จากข้อมูลของ Green Peace ระบุว่า ในปี 2563 องค์การอาหารโลกประเมินว่าทั่วโลกผลิตขยะอาหารอย่างน้อย 30% จากอาหารทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 940 ล้านล้าน ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี ซึ่งถือเป็นปริมาณมากและมูลค่ามหาศาล ทั้งยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องไปยังภาคเศรษฐกิจและสังคมในการจัดการขยะเศษอาหารเหล่านี้
ในส่วนของประเทศไทยเรานั้น กรมควบคุมมลพิษระบุว่า ภายในปี 2560 นั้นมีอัตราขยะอาหาร 64% ของปริมาณขยะทั้งหมด หรือ 245 กิโลกรัม/ต่อคน/ต่อปี หรือคิดง่ายๆ ว่าเราคนหนึ่งผลิตขยะอาหารโดยเฉลี่ย 0.7 กิโลกรัม/ ต่อวัน แต่ในทางกลับกันนั้น ประเทศไทยเรามีการนำขยะอาหารเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้น้อยมาก ดังนั้นการรณรงค์การจำกัดขยะอาหาร ‘Food Waste’ และ ‘Food Management’ ด่านแรกของเรา จึงจำเป็นต้องเริ่มจากต้นน้ำคือ การบริโภคอาหารเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่ายโดยเริ่มต้นจากเราทุกคน เพราะในปัจจุบันเราจะเห็นปริมาณอาหารเหลือทิ้งทั้ง ๆที่ยังกินได้เป็นจำนวนมาก
ในฐานะผู้ประกอบหารผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปรในภาคเอกชน เราเล็งเห็นถึงความสำคัญและผลกระทบในเชิงลบที่ก่อเกิดมาจาก ‘ขยะเราผลิตในทุกๆวัน’ ทั้งที่รู้ตัวหรือไม่รู้ก็ตาม
วันที่12 กรกฎาคม 2564 บริษัทจึงได้จัดกิจกรรม Tapioplast รักษ์โลก – โครงการทำปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์ด้วยถุงขยะย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เราเริ่มจากสองมือของทุกคนในองค์กร โดยให้พนักงานทุกคนมีส่วนช่วยรับผิดชอบและดูแล ‘ขยะ’ ที่มาจากมื้อกลางวันของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ขยะอาหาร’ จะต้องถูกคัดแยกและนำมาทิ้งในถุงรักษ์โลก TAPIOPLAST inside ที่มีส่วนประกอบ 30% ของเทอร์โมพลาสติกสตาร์ช (Thermoplastic starch) ที่ทำจากแป้งมันสำปะหลัง เพื่อที่จะนำขยะอินทรีย์เหล่านั้นไปกลบฝังในดิน เพื่อให้เกิดการย่อยสลายทางชีวภาพ จนเกิดเป็นชีวมวลและปุ๋ยที่ดีต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ โดยไม่เป็นภาระต่อการกำจัดขยะต่อไป
จุดประสงค์ของโครงการของเรานั้นไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการลดจำนวน Food Waste และ Circular Economy เท่านั้น แต่เราอยากปลุกฝังพนักงานทุกคน ในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม การตระหนักถึงปัญหาของขยะ ที่หลายๆคนคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก และทุกคนสามารถเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ เพียงแค่ ‘เริ่มที่ตัวเรา’